วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พลังงานก๊าซชีวภาพ


         ก๊าซชีวภาพ เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไร้ออกซิเจน (anaerobic process) โดยที่ก๊าซชีวภาพจะมีก๊าซมีเทน (CH4) เป็นองค์ประกอบหลักอยู่ประมาณ 50 – 80 %   นอกนั้นเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีก๊าซ H2S, N2, H2 อีก เล็กน้อย ดังนั้นจึงสามารถ    นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ปัจจุบันสารอินทรีย์ที่นิยมนำมาผ่านกระบวนการนี้แล้วให้ก๊าซชีวภาพ คือ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานเบียร์ โรงงานผลไม้กระป๋อง เป็นต้น รวมทั้งน้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จากกระบวนการดังกล่าวมีค่า COD ลดลงมากกว่า 80 % และได้ก๊าซชีวภาพ 0.3 – 0.5 ลบ.ม./กิโลกรัม COD ที่ถูกกำจัด ทั้งนี้ขึ้นกับคุณลักษณะของน้ำเสียแต่ละประเภท ก๊าซมีเทนมีค่าความร้อน 39.4 เมกะจูล/ลบ.ม. สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเตาได้  0.67 ลิตร ซึ่งเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 9.7 kWh

ทฤษฎีการเกิดก๊าซชีวภาพ


ดังนั้น    1 g COD ที่ถูกกำจัด  =  0.35 L CH4 (ที่ 0 °C, 1atm)
หรือ      1 g COD ที่ถูกกำจัด  =  0.395 L CH4 (ที่ 35 °C, 1atm)




รูปแบบระบบผลิตก๊าซชีวภาพ

ระบบผลิตก๊าซชีวภาพหรือระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้ออกซิเจนถูกนำมาใช้ในการกำจัดตะกอนส่วนเกิน
จากระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้ออกซิเจน ทั้งนี้เพื่อลดปริมาตรและทำให้ตะกอนคงสภาพดีขึ้น ในประเทศ
เมืองหนาวจะนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปเผา ความร้อนที่ได้จะนำไปใช้อุ่นน้ำเสียให้คงที่ประมาณ 37C
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมอย่างแพร่
หลายมากขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสีย และ
สามารถช่วยลดการใช้สารพลังงานของโรงงาน ระบบผลิตก๊าซชีวภาพหรือระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้
ออกซิเจนมีรูปแบบหลัก 4 แบบ ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งได้แก่ระบบหมักแบบตัวกลางกรอง
(Anaerobic Filter; AF) ระบบหมักแบบคอนแทค (Anaerobic Contact; AC) ระบบหมักแบบยูเอเอสบี
(Anaerobic Upflow Sludge Blanket; UASB) และระบบหมักแบบฟลูอิไดซ์
(Anaerobic Fluidized Bed; AFB) โดยหลักการระบบหมักประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ เป็นการเพิ่มปริมาณ
แบคทีเรียให้สูงในถังหมัก

ถังหมักแบบ AF ภายในจะบรรจุด้วยวัสดุกรอง (Packing media) ที่มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูงและมีช่องว่างสูง
โดยแบคทีเรียจะเกาะเป็นเมือกบนผิววัสดุกรอง นอกจากนี้พบว่ามีแบคทีเรียเป็นจำนวนมากอยู่ระหว่างช่อง
ว่าง ข้อดีของระบบหมักนี้ คือ สามารถรับปริมาณสารอินทรีย์ได้สูง ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของ
น้ำเสียและง่ายต่อการควบคุมระบบ แต่อย่างไรก็ตามระบบหมักนี้ก็มีข้อเสีย ได้แก่ ค่าก่อสร้างระบบสูงกว่า
ระบบอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากราคาของวัสดุกรองที่สูง และมีปัญหาอุดตันในระยะยาว ดังนั้นจึงมีการประยุกต์
ใช้กับปริมาณน้ำเสียไม่สูงมากนัก และในการออกแบบระบบหมัก AF นี้จะต้องเลือกใช้วัสดุกรองที่มีช่อง
ว่างและพื้นที่ผิวจำเพาะสูง และบรรจุเพียง 10-20% ของปริมาตรจุ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการอุดตัน

ส่วนถังหมักแบบ AC ซึ่งอาศัยหลักการนำตะกอนแบคทีเรียที่จมตัวในถังตกตะกอนย้อนกลับมาเติมใน
ถังหมัก ซึ่งทำให้ถังหมักมีตะกอนแบคทีเรียสูง จึงทำให้มีประสิทธิภาพสูง ระบบหมักแบบนี้มีข้อดี คือ มีประสิทธิภาพสูง และค่าก่อสร้างระบบหมักไม่สูงมากนัก แต่ก็มีข้อเสียหลายประการ ได้แก่ มีความยุ่งยาก
ในการออกแบบและควบคุมดูแลระบบ ทั้งนี้เนื่องจากต้องระวังในการควบคุมปริมาณแบคทีเรียในระบบให้
เหมาะสม ต้องมีการกวนผสมในถังหมักตลอดเวลา และตะกอนแบคทีเรียมีคุณสมบัติจมตัวยาก ดังนั้นอาจ
จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อื่นที่ช่วยทำให้ตะกอนแบคทีเรียนี้จมตัวดีขึ้น ระบบถังหมัก AC นี้ มักใช้กับน้ำเสีย
ปริมาณสูง ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างระบบต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับระบบหมัก AF

ระบบหมักแบบยูเอเอสบี (UASB) เป็นระบบหมักที่ถูกพัฒนาในช่วงหลัง โดยอาศัยหลักการสร้างสภาวะ
ในถังหมักให้เหมาะสม ทำให้แบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นเม็ด (Granular bacteria) สามารถเจริญเติบโตและ
มีปริมาณสูงในถังหมัก เม็ดแบคทีเรียนี้มีความหนาแน่นสูงและมีปริมาณเซลล์สูง จึงทำให้ระบบหมักนี้มีประสิทธิภาพสูง ระบบหมัก UASB นี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในช่วงหลังมากกว่าระบบหมักแบบอื่น ๆ ทั้งนี้
เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ มีค่าก่อสร้างต่ำสุด ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการเครื่องกวนผสมและ
ถังตกตะกอน และสามารถรับปริมาณสารอินทรีย์ได้สูง แต่อย่างไรก็ตามระบบหมัก UASB นี้มีข้อเสีย คือ
มีความยุ่งยากในการเริ่มต้นเดินระบบ

ระบบหมักแบบ AFB มีหลักการที่ทำให้เม็ดวัสดุขนาดเล็กลอยตัวเป็นอิสระในถังหมัก (Fluidization) โดย
แบคทีเรียจะเกาะเป็นเมือกบนผิวเม็ดวัสดุ ระบบหมักแบบนี้อาจกล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่มี
ข้อเสียที่มีความยุ่งยากในการออกแบบและควบคุมดูแล และมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งการก่อสร้างระบบหมักและ
การควบคุมดูแล ทั้งนี้เนื่องจากต้องมีการหมุนเวียนอัตราน้ำไหลขึ้นที่สูงและคงที่ตลอดเวลา ดังนี้จึงทำให้
ระบบหมักแบบนี้ไม่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม

นอกจากหลักการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียในถังหมักดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีวิธีการ
อื่น ๆ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้แก่ ระบบสองขั้นตอน (Two-Stage Process) การควบคุมระบบหมักอุณหภูมิ
สูง (Thermophilic Operation) ระบบผสม (Hybrid Process) และการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียโดยการกรอง (Membrane Filtration) โดยพบว่าการใช้ถังหมัก 2 ถังต่ออนุกรมกัน โดยถังแรกเรียกว่า ถังหมักกรด ถังที่
สองเรียกว่า ถังหมักมีเธน ถังหมักกรดมีขนาด 20% ของถังหมักมีเธน พบว่าวิธีการนี้
(Two-Stage Process) สามารถลดขนาดของถังหมักมีเธนได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือสามารถรับน้ำเสียได้
สูงขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากแบคทีเรียสร้างกรดและแบคทีเรียสร้างมีเธน มีความต้องการสภาวะ
แวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อแยกถังหมักเป็น 2 ถัง จึงทำให้แบคทีเรียทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพสูง
ขึ้น

การควบคุมถังหมักที่อุณหภูมิสูง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพถังหมักได้โดยทำการควบคุม
ที่อุณหภูมิ 55C ซึ่งเป็นช่วงที่แบคทีเรียอุณหภูมิสูง (Thermophiles) ทำงานได้ดีที่สุด การประยุกต์ใช้
หลักการนี้จะเหมาะสมเมื่อน้ำเสียมีอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายการเพิ่มอุณหภูมิให้กับ
น้ำเสีย

การใช้ระบบหมักผสมเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มเสถียรภาพของระบบ
หมักให้สูงขึ้น เช่นระบบหมัก AF-UASB, AF-AC, AC-UASB, AC-AF-UASB เป็นต้น การใช้ระบบหมัก
ผสมนี้อาจรวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบหมักสองขั้นตอนด้วย ซึ่งเป็นการนำข้อดีของแต่ละระบบรวมเข้า
ด้วยกัน เช่น ระบบหมัก AF-UASB จะทำให้ระบบหมักง่ายในช่วงเริ่มต้นเดินระบบ เนื่องจากตัวกลางกรอง
ทำหน้าที่ดักตะกอนแบคทีเรียไว้ในระบบ ส่วนการทำงานระยะยาวของระบบจะขึ้นกับการเกิดของตะกอน
เม็ดแบคทีเรีย

ส่วนการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียโดยการกรองนี้ กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเพิ่มปริมาณแบคทีเรีย
และยังทำให้น้ำเสียที่ผ่านถังหมักแล้วมีคุณภาพดีที่สุด แต่การกรองนี้จำเป็นต้องใช้พลังสูง จึงไม่นิยม
นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม


เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปมลภาวะทางน้ำเป็นปัญหาหนึ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข การระบายน้ำเสีย
ทั้งจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำในแหล่งรับน้ำธรรมชาติเน่าเสีย ซึ่งส่ง
ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยา ตลอดจนต่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชน การบำบัดน้ำเสียจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นในการแก้ไขมลภาวะทางน้ำ แต่การบำบัดน้ำเสียก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อชุมชนและ
โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นการนำเทคโนโลยีที่สามารถลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง และวิธีการอื่นที่สามารถ
ช้ประโยชน์จากน้ำเสีย จึงได้รับความสนใจอย่างมาก เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพ เป็นวิธีการที่ได้รับ
ความสนใจและนำมาประยุกต์ใช้ร่วมในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยก๊าซชีวภาพที่ผลิต
ได้นี้ ประกอบด้วยก๊าซมีเธนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติจุดไฟติดและให้พลังงานความร้อน
ดังนั้นก๊าซชีวภาพนี้จึงสามารถใช้เป็นสารพลังงานได้โดยตรง จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของ
โรงงาน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียอีกด้วย

หลักการกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยไม่ใช้ออกซิเจนอิสระ

สารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสียจะถูกย่อยสลายภายใต้สภาวะไม่มีออกซิเจนอิสระ โดยกลุ่มแบคทีเรีย ที่ไม่ใช้
ออกซิเจน (Anaerobes) การย่อยสลายนี้อาจแบ่งได้เป็นสามขั้นตอน ดังนี้

1. Hydrolysis
2. Acidogenesis
3. Methanogenesis
โดยสารอินทรีย์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงและไม่ละลายน้ำจะถูกย่อย (Hydrolysis) ให้เป็นสารอินทรีย์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำลงและละลายน้ำได้ การย่อยสารอินทรีย์นี้โดยอาศัยน้ำย่อยที่ปล่อยออกมาจากเซลล์แบคทีเรีย จากนั้นโมเลกุลสารอินทรีย์จึงสามารถซึมผ่านผนังเซลล์แบคทีเรียเข้าไปได้ แบคทีเรียกลุ่มสร้างกรด (Acidogens) จะใช้สารอินทรีย์เหล่านี้เป็นอาหาร ปล่อยกรดอินทรีย์ออกมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดน้ำส้ม กรดอินทรีย์ที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้โดยกลุ่มแบคทีเรียสร้างมีเธน (Methanogens) ได้มีเธนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเรียกว่าก๊าซชีวภาพ (Biogas)

ก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นซึ่งประกอบด้วยมีเธน 60-70% และคาร์บอนไดออกไซด์ 30-40% มีคุณสมบัติจุดไฟติด จึงสามารถนำไปใช้เป็นสารพลังงานให้ความร้อนและอื่น ๆ ได้

ทั้งกลุ่มแบคทีเรียสร้างกรดและสร้างมีเธนมักพบอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ เช่นในดินในแปลงนาข้าว ท่อระบายน้ำเสีย คูคลองที่เน่าเสีย และในมูลสัตว์ต่าง ๆ


การประยุกต์ใช้ระบบหมักผลิตก๊าซชีวภาพกับน้ำเสียอุตสาหกรรม ในช่วงแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายการบำบัด รูปแบบระบบหมักส่วนใหญ่เป็นบ่อหมัก โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะถูกปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศ นอกจากสูญเสียก๊าซชีวภาพแล้ว ยังมีปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนจากบ่อหมัก และต้องการพื้นที่มากในการสร้างบ่อหมัก ดังนั้นปัจจุบันการใช้ระบบบ่อหมักจึงลดต่ำลงมาก ระบบหมักแบบตัวกลางกรอง (AF) มักนิยมใช้กับน้ำเสียปริมาณน้อย ๆ เช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ก๊าซชีวภาพยังคงไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากมีปริมาณน้อย และจุดประสงค์หลักเพื่อการบำบัดน้ำเสีย การนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์นั้น เกิดขึ้นเพียงไม่กี่โรงงานที่มีปริมาณก๊าซชีวภาพผลิตได้สูง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

โรงงานกลุ่มสุรา เป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่มีการนำเทคโนโลยีผลิตกีาซชีวภาพเข้ามาใช้อย่างจริงจัง โดยน้ำเสียของโรงงานสุรา ซึ่งเรียกว่าน้ำกากส่ามีความเข้มข้นสารอินทรีย์สูงมาก โดยวัดในรูปบีโอดี (BOD) เท่ากับ 30,000 – 50,000 มก/ล และซีโอดี (COD) เท่ากับ 100,000 – 120,000 มก/ล นอกจากนี้ยังมีสีน้ำตาลเข้ม โดยอดีตโรงงานไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย จึงก่อปัญหาอย่างมากต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ดังนั้นทางโรงงานจึงถูกบังคับให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนจึงได้นำเทคโนโลยีการเผามาใช้และยังคงใช้อยู่ที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ถึงแม้ว่าวิธีการเผาจะสามารถกำจัดน้ำเสียได้หมดสิ้น แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นต่อมาโรงงานสุราทุกแห่งจึงหันมาใช้เทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพแทน รูปที่ 2 แสดงรูปแบบระบบบำบัดน้ำเสียในกลุ่มสุราทิพย์ โดยน้ำเสียจากโรงงานทั้งสองส่วนคือน้ำกากส่าจากการกลั่นสุราและน้ำล้างขวด จะไหลรวมกันเข้าสู่ระบบหมักแบบ UASB และสองขั้นตอน โดยถังหมักกรดมีขนาดจุ 450 ม3 และถังหมักมีเธนเป็นแบบ UASB มีขนาดจุ 3,000 ม3 ก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปใช้ผลิตไอน้ำ น้ำเสียที่ผ่านระบบหมักแล้วจะไหลลงบ่อหมักจุ 100,000 – 300,000 ม3 จากนั้นน้ำเสียจากบ่อหมักจะถูกสูบไปกำจัดต่อโดยการทำปุ๋ยหมัก ตารางที่ 1 แสดงประสิทธิภาพการบำบัดและการผลิตก๊าซชีวภาพของระบบหมักทิ้ง 10 แห่ง ของโรงงานสุราในกลุ่มสุราทิพย์ ความเข้มข้นสารอินทรีย์ในน้ำกากส่าแปรผันอยู่ในช่วง 55,000 – 150,000 มก/ล ซึ่งขึ้นกับคุณสมบัติกากน้ำตาลที่ใช้ในการผลิตอัตราป้อนสารอินทรีย์เหมาะสมอยู่ในช่วง 3 – 5 kgCOD/m3d ประสิทธิภาพการกำจัดสารอินทรีย์ประมาณ 60% ที่อัตราป้อนสารอินทรีย์ 4.5 kgCOD/m3d ระบบหมักสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 3,200 ม3/วัน ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำประมาณ 30% คิดเป็นเงินประมาณ 1.5 ล้าน/ปี

ความเหมาะสมการประยุกต์ใช้ระบบผลิตก๊าซชีวภาพขึ้นกับลักษณะคุณสมบัติน้ำเสียนั้น ดังได้กล่าวมาแล้ว ประโยชน์ 2 ประการที่ได้จากระบบผลิตก๊าซชีวภาพคือ ทำให้ค่าใช้จ่ายการบำบัดน้ำเสียลดต่ำลง และช่วยลดการใช้สารพลังงานอีกด้วย ในส่วนการลดค่าใช้จ่ายการบำบัดน้ำเสีย มาจากก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ ช่วยลดการใช้สารเชื้อเพลิง และมาจากค่าใช้จ่ายส่วนการบำบัดน้ำเสียลดต่ำลง ดังนั้นการพิจารณาความเหมาะสมการประยุกต์ใช้ระบบหมักผลิตก๊าซชีวภาพ ควรจะเปรียบเทียบกับวิธีการบำบัดอื่น ๆ ถ้าการนำระบบผลิตก๊าซชีวภาพมาประยุกต์ใช้ร่วมในระบบบำบัดน้ำเสียสามารถลดค่าใช้จ่าย เมื่อเปรียบเทียบกับระบบบำบัดอื่นๆ  ที่ไม่มีระบบหมักผลิตก๊าซชีวภาพ ก็สรุปได้ว่าการประยุกต์ใช้ระบบหมักผลิตก๊าซชีวภาพกับน้ำเสียนั้นมีความเหมาะสม

*อ้างจาก
นอกจากการพิจารณาว่าค่าบีโอดีของน้ำเสียสูงจึงจะเหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพแล้วจำเป็นต้องพิจารณาว่าโรงงานมีความต้องการพลังงานในกระบวนการผลิตมากน้อยอย่างไร ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถนำไปทดแทนสารเชื้อเพลิงได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะทำในการนำระบบหมักผลิตก๊าซชีวภาพมีความเหมาะสมมากขึ้น การนำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์โดยตรงและง่ายที่สุด คือการนำไปเผาให้ความร้อนในการผลิตไอน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และขับเคลื่อนเครื่องจักรกลแต่จะยุ่งยากและมีประสิทธิภาพต่ำกว่า

การนำกระบวนการหมักผลิตก๊าซชีวภาพไปใช้กับน้ำเสียอุตสาหกรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงการบำบัดขั้นสองด้วย เพื่อให้ได้น้ำเสียที่บำบัดแล้วได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้ง

สรุป

เทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพ หรือระบบบำบัดชีวภาพไม่ใช้ออกซิเจนจะมีความเหมาะสมประยุกต์ใช้กับน้ำเสียอุตสาหกรรมที่มีปริมาณความเข้มข้นสารอินทรีย์สูง และนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้ทดแทนสารเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายการบำบัดให้ต่ำลงและสามารถช่วยลดการใช้สารเชื้อเพลิงอีกด้วย เนื่องด้วยเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพต้องประยุกต์ใช้กับน้ำเสียที่มีความเข้มข้นสารอินทรีย์สูง จึงจำเป็นต้องมีขั้นตอนบำบัดต่อเนื่อง เพื่อให้น้ำเสียที่บำบัดแล้วเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น